เนื่องจากในชีวิตประจำวันของเราหรือการทำงานมีความเกี่ยวข้องเกี่ยวกับกฎหมายไม่มากก็น้อย การทำสัญญานั้นคือการที่บุคคลสองฝ่ายหรือหลายฝ่ายตกลงทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้มีผลผูกพันทางกฎหมายเช่น เรื่องซื้อขาย กู้ยืม จำนอง จำนำ เช่าทรัพย์สิน จ้างแรงงาน จ้างทำของ เป็นต้น และมักมีปัญหาอยู่เสมอในการเข้าทำสัญญาเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือความไม่รู้เรื่องที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงหรือป้องกันข้อพิพาททางกฎหมายในการทำสัญญา คลินิกกฎหมายขอนำความรู้เบื้องต้นในการทำสัญญามาบอกเล่า
สิ่งที่ควรคำนึงในการทำสัญญา มีหลายประการด้วยกัน คือ
-
- วัตถุประสงค์ของสัญญาว่า ต้องการทำอะไร ควรระบุให้ชัดเจน โดยวัตถุประสงค์จะต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย
- ชื่อที่อยู่ของคู่สัญญา เพื่อประโยชน์ในการติดตามบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญา
- ความสามารถของคู่สัญญา หากเป็นผู้เยาว์คืออายุยังไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรม คือ บิดา มารดาของผู้เยาว์ให้ความยินยอมก่อน แต่หากสมรสกัน(จดทะเบียนสมรส) เมื่ออายุครบ ๑๗ ปีบริบูรณ์ ก็ไม่เป็นผู้เยาว์ต่อไป หรือในกรณีคู่สัญญาเป็นนิติบุคคลนั้น ต้องลงนามให้เป็นไปตามเงื่อนไขของอำนาจกรรมการด้วย และทำการในขอบวัตถุประสงค์ของบริษัท
- มีสิทธิหรือมีอำนาจทำสัญญาได้หรือไม่ เช่น เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น เป็นกรรมการบริษัทที่มีอำนาจหรือเป็นผู้รับมอบอำนาจหรือไม่ โดยจะต้องตรวจเอกสารที่เกี่ยวข้องเช่น โฉนด หนังสือรับรองบริษัท ใบมอบอำนาจ เป็นต้น
- ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เช่น ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือ กู้เงินต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ เป็นต้น
- ค่าเสียหาย หรือเบี้ยปรับ เมื่อมีการผิดสัญญา ควรระบุให้ชัดเจน
- ค่าธรรมเนียม ภาษี ฝ่ายใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ หรือให้รับผิดชอบร่วมกัน
- ลายมือชื่อคู่สัญญา หากพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือต้องมีพยานรับรอง ๒ คน จึงจะบังคับได้
-
พยานที่รู้เห็นการทำสัญญา แม้กฎหมายจะไม่บังคับให้ต้องมีพยาน แต่ก็ควรมีพยานไว้เพื่อเบิกความยืนยันการทำสัญญาเมื่อมีกรณีพิพาทเกิดขึ้น
กรณีคู่สัญญามีคู่สมรส หากเป็นการทำสัญญาเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เช่น ซื้อขายแลกเปลี่ยน ให้ ขายฝาก เช่าซื้อ จำนอง ก่อให้เกิดภาระจำยอม สิทธิเก็บกิน หรือนำเงินสินสมรสไปให้กู้ต้องให้คู่สมรสของคู่สัญญาให้ความยินยอมด้วย มิฉะนั้น คู่สมรสอาจฟ้องเพิกถอนสัญญาในภายหลังได้
ข้อควรระวังในการเข้าทำสัญญา มีดังนี้
- ควรมีหลักฐานเป็นหนังสือ แม้บางสัญญา กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือก็ตาม บริษัทควรเลือกจัดทำเป็นหนังสือเนื่องจากชัดเจนแน่นอนโต้แย้งได้ยาก
- อย่าไว้วางใจ อย่าเชื่อใจ อย่าเซ็นชื่อในกระดาษเปล่า หรือแบบพิมพ์ที่มิได้กรอกข้อความ ทุกครั้งที่มีการชำระหนี้ควรขอใบเสร็จหรือหลักฐานการรับชำระหนี้ หรือขอหลักฐานแห่งหนี้คืนมา หรือขีดฆ่าทำลายหลักฐานแห่งหนี้เสีย
- อย่าเห็นแก่ได้ ประโยชน์ที่มากผิดปกติ ทรัพย์ที่ราคาต่ำผิดปกติ ผู้ที่ทำสัญญามาน่าจะมีทรัพย์เช่นนั้น หรือทำในเวลาผิดปกติ เช่น กลางคืน หรือในวันหยุด ท่านอาจมีความผิดฐานรับของโจร
- ข้อความในสัญญาต้องกระชับ และชัดเจน ไม่ใช้คำที่คลุมเครือหรือแปลได้หลายนัย
- ควรมีคู่ฉบับ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องตรงกัน ป้องกันมิให้ฝ่ายใดแก้ไขสัญญาเพียงฝ่ายเดียว
- การเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาภายหลัง อย่าตกลงด้วยวาจา ควรให้คู่สัญญาบันทึกไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง มิฉะนั้น อีกฝ่ายอาจอ้างได้ว่าไม่มีการตกลงแก้ไข