การจดทะเบียนรับรองบุตรคืออะไร ทำไมต้องมีการจดทะเบียนรับรองบุตร และบุตรที่เกิดจากบิดาและมารดาที่ไม่จดทะเบียนสมรสกันทำไมถึงไม่ถึงเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย

ทำไมต้องมีการจดทะเบียนรับรองบุตร

การจดทะเบียนรับรองบุตรเป็นเรื่องที่มารดาและบิดาของเด็กไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย เมื่อมีบุตรด้วยกัน บุตรจึงเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาแต่เพียงผู้เดียว การที่บิดาจะขอจดทะเบียนรับรองเด็กเป็นบุตรจะมีประโยชน์แก่ตัวเด็กมาก ที่จะทำให้เด็กจะกลายเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา และบิดาที่แท้จริงซึ่งเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเด็ก (ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับภรรยา) ก็จะกลายเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย แทนที่จะมีแต่มารดาซึ่งชอบด้วยกฎหมายเพียงคนเดียว

ประโยชน์ของการที่บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร

เด็กจะได้รับสิทธิต่างๆ ในครอบครัวเช่นเดียวกับบุตรที่เกิดจากบิดามารดาสมรสด้วยกัน แต่เฉพาะบิดากับบุตรเท่านั้น ที่เมื่อมีการจดทะเบียนรับรองบุตรแล้ว จะกลายเป็นบิดาและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ได้ทำให้บิดาและมารดากลายเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ตราบใดที่ทั้งคู่ยังไม่จดทะเบียนสมรสเป็นสามีภริยากันในภายหลัง

ปัญหาการจดทะเบียนรับรองบุตรส่วนใหญ่เท่าที่พบ มารดามักจะต้องการให้บิดาจดทะเบียนรับรองบุตรให้ ดังนั้นถ้าหากบิดาอยากจะจดทะเบียนรับรองบุตรที่เกิดจากหญิงที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับตน ย่อมทำได้เสมอ เพราะถือเป็นเรื่องเฉพาะตัวของชายผู้นั้น แม้ว่าผู้ชายจะมีคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่แล้ว ก็ยังสามารถที่จะจดทะเบียนรับรองบุตรที่แท้จริงของตนที่เกิดจากหญิงคนอื่นได้เสมอ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะจดทะเบียนรับรองบุตรไม่ได้ เพราะภริยาที่ถูกต้องตามกฎหมายจะเข้ามาคัดค้าน ไม่ให้จดทะเบียนรับรองบุตร

ความสำคัญของการจดทะเบียนรับรองบุตรอยู่ที่ว่า มารดาและเด็กยอมให้บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร ดังนั้น ถ้าบิดาประสงค์จะจดทะเบียนรับรองบุตรก็ต้องให้เด็กและมารดาเด็กยินยอมด้วย หากมารดาเด็กไม่ยินยอมให้บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร สาเหตุมาจากความทิฐิ หรือความโกรธ หรือชังที่ถูกหลอกว่าไม่มีภริยาอยู่ก่อน บิดาจะจดทะเบียนรับรองบุตรได้ โดยการร้องขอต่อศาล ให้พิพากษาให้บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร เพราะเข้ากรณีที่ว่า ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กคนใดคนหนึ่งคัดค้านว่า ผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ บิดาก็ต้องไปร้องศาลขอจดทะเบียนรับรองบุตร เพราะเข้ากรณีที่ว่ามารดาไม่ให้ความยินยอม ซึ่งแน่นอนว่า ศาลจะต้องพิจารณาผลประโยชน์ที่จะตกได้แก่ตัวเด็กเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู สิทธิที่จะได้รับมรดก สิทธิที่จะได้รับการดูแล หรือสิทธิที่จะได้รับค่าขาดไร้อุปการะจากผู้ที่มาทำละเมิดกับบิดาของตนให้ถึงแก่ความตาย เป็นต้น

ดังนั้น การที่บิดาจดทะเบียนรับรองบุตรก็มิได้หมายความว่าจะได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร เพียงแต่หากศาลให้เด็กอยู่ในความปกครองของมารดาแต่เพียงผู้เดียว ก็มิได้หมายความว่า จะตัดสิทธิมิให้บิดาเด็กไปเยี่ยมเยียน พบปะเด็ก พอสมควร มารดาจะกีดกันมิให้เด็กและบิดาพบปะกัน เหมือนเช่นที่บิดายังไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตรอีกต่อไปไม่ได้

อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่าบิดาจะไม่มีโอกาสที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ถ้าต่อมาภายหลัง ปรากฏว่า มารดาเด็กมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ไม่เหมาะที่จะใช้อำนาจปกครองบุตร บิดาก็สามารถร้องต่อศาล ขอให้ศาล เปลี่ยนให้บิดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร แทนมารดาเด็กได้ แต่นั่นหมายถึงว่า บิดาจะต้องได้จดทะเบียน รับรองเด็กเป็นบุตรแล้ว จึงจะมาร้องขอเปลี่ยนอำนาจปกครองบุตร จากมารดาที่ไม่ควรให้ดูแลเด็ก มาเป็นบิดาในภายหลังได้ ข้อพึงระวัง ในการทำสัญญากับผู้เยาว์ที่บิดาจดทะเบียนรับรองบุตรยังคงถือว่ามารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่ฝ่ายเดียว ดังนั้น บริษัทควรทำสัญญากับมารดาก็เพียงพอแล้ว แต่หากเป็นนิติกรรมสำคัญ เช่น การขายที่ดิน ให้ที่ดิน หรือนิติกรรมสำคัญอื่นที่มีชื่อบุตรเป็นเจ้าของ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำโดยลำพังมิได้ แต่ต้องขออนุญาตศาลเสียก่อน นิติกรรมจึงจะสมบูรณ์